หาดทราย สายลม และชายทะเล ล้วนสร้างความเพลิดเพลินและผ่อนคลายให้กับเรามากเลยทีเดียว แต่เมื่อพูดถึงชายหาดหลายคนมักคิดว่าจะต้องเป็นเนื้อทรายสีขาวหรือน้ำตาลเท่านั้น แต่มันไม่ใช่เสมอไป เพราะธรรมชาติเป็นดั่งเทวดาที่คอยเสกสรรให้แตกต่างกันออกไป โดยมีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง
1. หาดทรายแก้วหลากสี
ที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้คือ หาดทรายแก้ว (Glass Beach) ที่อยู่ในเมือง ฟอร์ต แบร์ค (Fort Bragg) ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มันดูสวยงามมากเลยใช่ไหม และคุณต้องเชื่อแน่ ๆ ว่า ในอดีตมันเคยเป็นศูนย์รวมแห่งขยะกองโต
จนกระทั่งใน ปี ค.ศ. 1967 มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะหมดสิ้น เพราะเศษเล็กเศษน้อยของแก้ว กระจกต่างๆ ยังคงฝังรากเป็นอณูแฝงอยู่ในทราย
แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับหลายสิปปี ราวเกิดปาฏิหาริย์ เจ้าเศษแก้วที่แหลมคมอันเกลื่อนกลาด ถูกธรรมชาติเข้าแทรกแซง ทั้งแต่งรูปทรง ขัดเกลา จนไร้ความคม จนกลายเป็นวัตถุกลมมนสร้างสีสันเป็นหาดทรายแก้ว (Glass Beach) แห่งนี้
ปัจจุบัน หาดทรายแก้ว Glass Beach อยู่ในความดูแลของ อุทยานแห่งรัฐแมคเคอร์ริชเชอร์ (MacKerricher State Park) เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มแอบเก็บหินสีติดไม้ติดมือกลับไปด้วย จนทำให้ปริมาณหินเหลือน้อยลง ทางอุทยาน ฯ จึงต้องยื่นมือมาควบคุมและอนุรักษ์ไว้เพราะไม่เช่นนั้นหมดหาดแน่ ๆ
2. ชายหาดป๊อปคอร์น
ณ บนบริเวณชายหาดบนเกาะฟูเอร์เตเบนตูรา ที่ประเทศสเปน มันเป็นชายหาดที่ดูแปลกตามากเพราะแทนที่จะมีแต่เม็ดทรายขาว ๆ และต้นมะพร้าว แต่กลับพบว่าบนขายหาดแห่งนี้มีบางสิ่งที่ดูเหมือนป๊อปคอร์นเต็มไปหมด จนทำให้ถูก เรียกว่า ชายหาดป๊อปคอร์น
หินพวกนี้จริงๆ แล้วมันเกิดจากเศษปะการังสีขาวที่มีรูปร่างผิดปกติ จากการขัดสีของทะเลจนเหมือนกับเมล็ดข้าวโพดคั่วอย่างที่คุณเห็นนี้ล่ะครับ
แม้ว่าหินเหล่านี้จะดูพองนุ่มนิ่มเหมือนข้าวโพดคั่วก็จริง แต่หินก็ยังคงเป็นหินที่มีความแข็ง หากไปเดินเล่นที่หาดแห่งนี้ ก็คงจะไม่ได้ความรู้สึกสบายเท้าเหมือนไปเดินย่ำบนชายหาดทั่ว ๆ ไป แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น หาดแห่งนี้ก็ยังเป็นจุดสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย
สำหรับ หาดป๊อปคอร์นแห่งนี้ แท้จริงมีมานานมากแล้วเท่าที่คนท้องถิ่นจะจำความได้ แต่เพิ่งจะมาได้รับความนิยมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ภายหลังจากมีผู้ไปเยี่ยมชมแล้วถ่ายภาพนำไปโพสต์แชร์ลงอินสตาแกรม และตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หลังจากนั้นมาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
3. หาดลี้ลับ
Hidden beach “ฮิดเด้น บีช” หรือ “หาดลี้ลับ” ตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง ในหมู่เกาะมาเรียต้า หรือ มารีเอต้า (Marieta Islands) หมู่เกาะห่างไกลผู้คนที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งเมืองปอร์ตู บาร์ยาตา (Puerto Vallarta) ในรัฐฮาลิสโก (Jalisco)
รัฐที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศเม็กซิโก (Mexico) เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะบริเวณรอบๆหมู่เกาะนั้นค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากถูกป้องกันจากการประมงและการล่าสัตว์โดยรัฐบาลเม็กซิโก ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลยังคงไม่ถูกทำลายและกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการดำน้ำตื้นและการดำน้ำลึก
โดยสัตว์ทะเลที่พบมาในแถบนี้ได้แก่ เต่าทะเล , ปลากระเบนราหู , ปลาหมึก , ปลาโลมา , ปลาวาฬหลังค่อม และอื่นๆ อีกมากมาย
4. หาดสีรุ้ง
หาดทรายสีรุ้งนี้ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Cooloola รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เรียกว่าหาดสีรุ้งนี่ไม่ได้หมายความว่าที่หาดมีทราย 7 สีเสมือนสีรุ้งกินน้ำแต่อย่างใดนะครับ
เพียงแต่จะสื่อถึงความหลากหลายของสีทรายที่มีมากถึง 74 สีต่างหาก หากดูแต่ภาพกว้างหาดสีรุ้งแห่งนี้ก็อาจจะดูเหมือนหาดทรายขาวทั่วไป
แต่หากเดินไปเรื่อยๆ ตามชายฝั่งที่หาดก็จะพบว่าสีของหาดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทรายสีต่างๆ ทั้งส้ม ดำและแดงไล่สีทอดยาวไปตามหาดสีรุ้งแห่งนี้
สีของทรายบนหาดสีรุ้งก็มีต้นกำเนิดคล้ายๆ กับหาดทรายสีในที่อื่นๆ คือเกิดจากการที่แร่ธาตุและหินโดนน้ำกัดเซาะจนทำให้สีของหินหรือแร่ธาตุเหล่านั้นลงมาปะปนกับทรายบนหาด
และทรายของหาดแห่งนี้ก็เป็นแร่ Iron Oxide ซึ่งจะเป็นแร่หลักที่อยู่ในโขดหินรอบๆ หาดทำให้เกิดเป็นสีสันต่างๆ บนหาดแห่งนี้นั่นเอง
5. หาดทรายสีชมพู
นี้คือหนึ่งในชายหาดสีชมพู (Pink Sands Beach) ของโลกที่ทอดยาวไปตามชายฝั่งของเกาะฮาร์เบอร์ ในประเทศบาฮามาส ที่มีความยาว 5.6 กิโลเมตร และกว้าง 2.4 กิโลเมตร เกาะฮาร์เบอร์แห่งนี้ เป็นอีก 1 จุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยว เพราะมีหาดทรายสีชมพูซึ่งสวยและดีที่สุดทางฝั่งทะเลแคริบเบียนอีกด้วย
สีชมพูของหาดทรายแหง่นี้เกิดขึ้นจากสัตว์เซลล์เดียวที่ไม่มีกระดูสันหลังประเภทแพลงตอน ฟอรามินิเฟอรา (Foraminifera) ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เกาะเป็นจำนวนมาก ในเปลือกของแพลงตอนชนิดนี้มีแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งทำให้เปลือกของพวกมันมีสีชมพู เมื่อแพลงตอนพวกนี้ตายลง เปลือกขงพวกมันจะถูกคลื่นซัดขึ้นไปบนฝั่งปนกับทรายบนหาดจึงทำให้ทรายที่มีสีขาวกลายเป็นสีชมพูด้วยเปลือกของแพลงตอนจำนวนมากนั่นเอง สวยจริงๆ น่ะ
อย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่านี่เป็นเพียงแค่หนึ่งหาดเท่านั้นที่มีทรายสีชมพู เพราะทั้งใน เปอร์โตริโก เบอร์มิวดา บาร์บาดอส ฟิลิปปินส์ และสก็อตแลนด์ ก็มีหาดทรายสีชมพูเช่นเดียวกัน
6. หาดไข่ไดโนเสา
ก้อนหินรูปทรงแปลก ๆ ที่ดูคล้ายไข่โนเสาร์จำนวนมาก ถูกวางเรียงรายตามแนวชายหาด Koekohe ทางตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ มันมีชื่อเรียกว่า ก้อนหินโมเอรากิ ( Moeraki Boulders) โดยมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือเกือบจะกลมขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีขนาดตั้งแต่ 0.5 – 2.2 เมตร ปะปนกันไป
การวิเคราะห์รายละเอียดของหินโดยใช้ วิทยาทางแสง ไม่ว่าจะเป็นการรังสีเอกซ์และไมโครโพรบอิเล็กตรอน ได้ข้อสรุปว่าก้อนหินเหล่านี้ ประกอบด้วยโคลนตะกอนละเอียดและดินเหนียวที่ประสานด้วยแคลไซต์ จากนั้นก็ถูกน้ำทะเลและทรายกัดเซาะ มาเป็นเวลานานจนมีรูปร่างอย่างที่เห็น
จากตำนานท้องถิ่นของชนเผ่าเมาลี (Māori) อธิบายถึงก้อนหินว่า เป็นซากของตะกร้าใส่ปลาไหลที่ถูกซัดขึ้นชายฝั่งหลังจากการล่มของเรือใบแคนนูขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “อาไร-ที-อุรุ “ตำนานบอกว่าสันดอนหินที่ขยายออกสู่ทะเลเป็นซากของเรือโบราณนี้ และหินแหลมที่ใกล้เคียงกับเรือเป็นร่างของกัปตันเรือใบแคนู
ในอดีตมีจำนวนก้อนหินโมเอรากิ มากกว่าปัจจุบัน จากภาพหลักฐานที่เก็บไว้ในห้องสมุดอเล็กซานเดอร์ เทรินบูลเมื่อปี1850 เป็นบทความที่เป็นที่นิยมมากช่วงเวลานั้น ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนิวซีแลนด์นะครับ
7. ทรายสีเขียว
คุณเคยรู้มาก่อนหรือไม่ว่าบนเกาะฮาวาย จะมีชายหาดที่มีทรายเป็นสีเขียวด้วย ใช่ครับคุณฟังไม่ผิดหรอก มันมีชื่อเรียกว่า หาดปาปาโกเลีย ที่มีลักษณะคล้ายจันทร์เสี้ยว และมันยังเป็น 1 ในสี่ของหาดสีเขียวที่มีอยู่บนโลกนี้ด้วย ซึ่งนอกจากที่นี่ก็ยังมีที่ กวม ที่กาลาปากอส และนอเวย์
สาเหตุที่หาดทรายที่นี่เป็นสีเขียวมะกอก สืบเนื่องมาจากเมื่อราว 49,000 ปีก่อนภูเขาไฟ ปูมาฮาน่า ได้ระเบิดขึ้นและถือเป็นการระเบิดครั้งสุดท้ายของภูเขาไฟลูกนี้ สีเขียวเหล่านี้เป็นผลพวงจากเถ้าลาวาที่ ปูมาฮาน่า พ่นออกมาจากใต้พิภพครับ มันคือแร่โอลิวีน แร่นี้มีชื่อขนานนามกันอีกหนึ่งชื่อว่า “เพชรแห่งฮาวาย”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าลาวาไหลลงมาแล้วจะมีเจ้าเกล็ดผลึกแร่โอลิวีน โปรยปรายดั่งสายฝนจากฟ้าสู่ดินมาเลยนะครับ ลาวาเมื่อไหลลงมาก็ต้องรอให้เย็นตัวลง เมื่อเย็นแล้วก็ต้องรอเวลาผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านคลื่นซัดซาดเป็นระยะเวลานาน ไปๆ มาๆ คลื่นก็พัดแร่โอลิวีนมาสะสมมากขึ้นๆ ที่หาดแห่งนี้นั้นเองครับ
8. หาดทรายสีดำ
หาดพูนาลู (Punaluu Beach) เป็นหาดทรายสีดำที่โด่งดังที่สุดบนเกาะฮาวาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา เสน่ของที่นี่ก็คือทรายที่เป็นสีดำสนิท ตัดกับสีของน้ำทะเลช่างเป็นอะไรที่ดูคลาสสิคสุด ๆ ไปเลย
สาเหตุที่ทรายบนหาดแห่งนี้มีสีดำก็เป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำที่ระเบิดขึ้นมาและและเมื่อลาวาที่ไหลทะลักออกมาเจอกับน้ำก็ทำให้เกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นหินบะซอลต์
ภายหลังจึงถูกคลื่นทะเลกัดเซาะและพัดเถ้าถ่าน จึงเศษหินสีดำมาปกคลุมหาดในที่สุด ถ้าถามว่าอันตรายไหมตอบเลยว่าไม่ เพราะมีคนบางกลุ่มที่เอาทรายสีดำเหล่านี้ไปใช้บำบัดโรคด้วยนะ อย่างเช่นโรคอัมพฤกษ์ เป็นต้น อันนี้ก็อยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคนนะ
ซึ่งบนโลกของเรามีหาดทรายดำอยู่หลายที่ รวมถึงที่ประเทศไทยด้วยนะ อย่างเช่น หาดนางทอง บริเวณเขาหลัก สีดำจากหาดแห่งนี้ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟระเบิดเหมือนต่างประเทศแต่เป็นผลพวงมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกในอดีต เมื่อกิจการเหมืองแร่เลิกกิจการไปแล้วก็ยังคงมีเศษซากลงเหลืออยู่และมากพอจนทำให้หาดนางทองกลายเป็นหาดทรายสีดำอีกแห่งในโลก
9. หาดทรายสีแดง
หมู่เกาะฮาวายเองก็เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่พักผ่อนติดทะเลที่สวยติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว แล้วคุณทราบหรือไม่ว่าที่นี่มีหาดทรายสีแดงด้วยนะ
มันคือ หาด ไคฮาลูลู (Kaihalulu) นี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะเมาอิ (Maui) เกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของหมู่เกาะฮาวาย
สีของหาดทรายรวมไปถึงโขดหินโดยรอบจะออกสีแดงเข้มจนไปถึงสีน้ำตาลแดงตัดกับสีฟ้าของน้ำทะซึ่งเป็นที่หาดูได้ยาก เพราะนอกจากหาดนี้แล้ว ก็จะมีหาดที่อยู่บริเวณเมืองซานโตรินี่ ประเทศกรีซ อีกหนึ่งแห่งเท่านั้น
โดยหาดทรายแดงนั้นส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากการปะปนของแร่ซึ่งมีส่วนประกอบของแร่เล็กปริมาณมาก เมื่อแร่เหล็กมาเจอกับออกซิเจนในอากาศจะทำให้แร่เหล็กนั้นเปลี่ยนสีเป็นสีออกแดงเข้มและกลายสภาพเป็นเศษเล็กเศษน้อยนั้นเอง
ในครั้งอดีตเมื่อภูเขาไฟปะทุขึ้นมาจึงนำลาวาที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กมายังหาด เมื่อเจอกับออกซิเจนในอากาศจึงเปลี่ยนหาดทรายขาวแห่งนี้เป็นหาดทรายแดงหายาก ณ ปัจจุบัน
10. ชายหาดเปลือกหอย
หาดเชลล์ บีช (Shell Beach) เป็นหนึ่งในสองชายหาดในโลก ที่ทั้งหาดนั้นเป็นเปลือกหอยทั้งหมด อยู่ห่างจากเมืองเดนแฮม ในรัฐเวสเทิร์นเตรเลีย ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 45 กิโลเมตร
เปลือกหอยนับล้านๆ ชิ้น สีขาวละมุนตัดกับสีน้ำเงินฟ้าของน้ำทะเลทอดตัวยาวนับ 100 กิโเลมตร หอยหลากหลายประเภทขนาดเล็กๆ ที่ตายตามธรรมชาติและด้วยลมทะเลซัดเข้าหาฝั่ง พัดพาเอาเปลือกหอยขนาดเล็กเหล่านี้มารวมกัน
ก่อให้เกิดเป็นหาดเปลือกหอยที่ได้เห็นกัน ใช้เวลานับพันปีเลยก็ว่าได้กว่าที่จะสะสมเปลือกหอยได้มากมายขนาดนี้
ที่สำคัญอีกสาเหตุหนึ่งของการมีเปลือกหอยจำนวนมากก็คือ ปริมาณความเค็มของน้ำทะเลบริเวณนี้ค่อนข้างเข้มข้น ทำให้เหมาะกับการเจริญพันธุ์ของหอย เมื่อมีปริมาณมากขึ้น อัตตราการตายมากขึ้น เปลือกหอยก็มากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งในเมืองไทยของเราก็มีที่หาดท้องโตนด อำเภอ สวี จังหวัดชุมพร ที่ชายหาดมีเปลือกนับล้านฝาที่ถูกคลื่นพัดมากองเต็มชายหาด หากใครเคยไปเที่ยวช่วยยืนยันหน่อยนะครับว่าเยอะจริงหรือเปล่า
ก็จบกันไปแล้วนะครับกับชายหาดแปลก ๆ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าคุณคงจะชื่นชอบชายหาดเหล่านี้นะครับ และยังมีหาดที่แปลกอยู่อีกมาก เอาไว้วันหลังจะเอามาให้ชมกันอีกนะครับ