ปลาหิน (Stonefishes) เป็นปลาที่หากินอยู่ตามพื้นทะเล โดยกบดานอยู่กับพื้นนิ่ง ๆ เพื่อรอฮุบเหยื่อซึ่งเป็นอาหารไปทั้งคำ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก โดยอาจพบได้ในแหล่งน้ำกร่อย เช่น ปากแม่น้ำ หรือตามชายหาด
มีรูปร่างโดยรวม คือ ลำตัวป้อมเกือบกลม หัวขนาดใหญ่ส่วนหัวมีหนามจำนวนมาก สีลำตัวคล้ำมีลายเลอะ ทำให้แลดูคล้ายก้อนหิน ลำตัวสากและมีหนามเล็ก ๆ หนังหนาและเป็นปุ่ม เกล็ดละเอียด
ก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นหนาม ซึ่งก้านครีบนี้มีพิษร้ายแรงมาก โดยต่อมพิษของก้านครีบแข็งอยู่ใต้ชั้นผิวโดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ
พิษจะถูกปล่อยออกเมื่อเยื่อหุ้มหนามฉีกขาด อันตรายเกิดจากการไปสัมผัสถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่าง ๆ และหนามบริเวณหัว เนื่องจากปลาหินชอบอยู่นิ่ง ๆ ทำให้ดูคล้ายก้อนหิน
หากไปสัมผัสหรือเหยียบได้ พิษมีความรุนแรงมากเมื่อถูกตำหรือบาดจะปวดและบวมทันที ความเจ็บปวดอาจอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ในกรณีที่รับพิษจำนวนมากหรือแพ้ ผู้ได้รับพิษอาจมีอาการคอแห้ง ปวดเมื่อยตามข้อต่าง ๆ ซึม เพ้อ ไม่ได้สติ และอาจถึงชีวิตได้
ปลาหิน (Stonefishes) ถือว่าเป็นปลาจำพวกหนึ่งที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก หากคุณได้พบเจอพวกมันก็อย่าคิดว่ามันเป็นปลาที่สวยงามแล้วจะไปเล่นนะเพราะมันอันตรายมาก
วิธีการแก้พิษถ้าได้ไปสัมผัสกับมันคือ การนำหนามพิษออกจากร่างกายผู้ป่วย บางรายอาจต้องใช้การผ่าตัด เพื่อนำหนามพิษออกและทำความสะอาดแผล อาจเอกซ์เรย์หรือ อัลตราซาวด์เพื่อประเมินว่าได้นำเศษหนามออกหมดแล้ว บรรเทาอาการ ปวดด้วยการแช่บาดแผลในน้ำอุ่น 45 องศาเซลเชียส นาน 30-60 นาที (พิษซึ่งเป็นโปรตีนจะถูกทำลายด้วยความร้อน) ให้ยาแก้ปวด หรืออาจใช้ ยาชาฉีดรอบแผลหรือทำ regional nerve block เพื่อบรรเทาอาการปวด
ในออสเตรเลียมีการใช้ stonefish antivenom พบว่า antivenom มีผลช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ปัจจุบันยังไม่มี antivenom ชนิดนี้ในประเทศไทย
ขอบคุณที่มา th.wikipedia